หลักฐานในการกู้ยืมเงิน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก ได้วางบทบัญญัติไว้ว่าการกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
จากบทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าว สามารถตั้งข้อสังเกตได้ดังต่อไปนี้
1) การกู้ยืมที่ต้องการหลักฐานเป็นหนังสือในการฟ้องร้องบังคับคดีนั้น จะต้องเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ดังนั้น การกู้ยืมกันเพียง 2,000 บาทพอดีหรือต่ำกว่าจึงไม่ต้องการหลักฐานเป็นหนังสือในการฟ้องร้องบังคับคดีแต่อย่างใด
2) หลักฐานเป็นหนังสือนั้น ไม่ใช่แบบของนิติกรรม แต่เป็นหลักฐานที่กฎหมายบังคับให้มี ฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ เพราะถ้าหากเรื่องนี้เป็นเรื่องของแบบนิติกรรมแล้วก็คงจะบัญญัติผลให้เป็นโมฆะ ไม่ใช่บัญญัติแต่เพียงว่าให้มีผลฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้เท่านั้น
คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ 8175/2551 หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 นั้น อาจเกิดมีขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ และไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหลักฐานที่ได้มอบไว้แก่กัน แค่คำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จะเกิดมีขึ้นภายหลังการกู้ยืมเงินและไม่มีการส่งมอบให้ไว้แก่กันก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยและโจทก์เป็นกรณีที่มีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการใช้เงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดง จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้เพราะเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายข้างต้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 28/2505 จำเลยยืมเงินโจทก์ โจทก์ให้เงินไปก่อนแต่ยังไม่ได้ทำสัญญากู้ ภายหลังจำเลยจึงทำหนังสือรับรองใช้หนี้ให้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จริงอยู่ในกรณีนี้ในเวลาที่อ้างว่าได้มีการกู้ยืมเงินกันนั้น คู่กรณีหาได้ทำหนังสือในการกู้ยืมเป็นหนังสือกันไว้ไม่ ย่อมจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ไม่ แต่ในเวลาต่อมาก็ได้มีหลักฐานในการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีนั้นได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5644/2546 โจทก์ฟ้องขอบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้หนี้เดิมจะมาจากมูลหนี้การกู้ยืมเงิน แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม โจทก์จึงไม่จำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้กู้มาแสดงต่อศาล
หนี้ตามต้นเงินที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเป็นหนี้จากมูลสัญญาประนีประนอมยอมความมิใช่หนี้กู้ยืม จึงไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้โจทก์เรียกหรือคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
ในกรณีที่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือแล้ว แต่ต่อมาได้สูญหายไป กรณีนี้ถือว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือจึงสามารถนำสืบพยานบุคคลเกี่ยวกับการสูญหายได้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 696/2522 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ โดยจำเลยยินยอมอนุญาตให้ ณ. บุตรจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อจำเลยในช่องผู้กู้แทนจำเลย ดังนั้น หาผูกพันจำเลยไม่ และกรณีเช่นนี้หาใช่กรณีที่จำเลยเชิดให้ ณ.เป็นตัวแทนกู้เงินโจทก์ไม่
คุยคดีเงินกู้ #ทนายคดีเงินกู้ 091-0473382 ,02-1217414 คุณสุริยา สนธิวงศ์ ( ทนายความ )