ความผิดจากการนำรถจำนำ ที่เจ้าของรถต้องรู้
กรณีมิจฉาชีพหาช่องว่างทางกฎหมายกระทำความผิดและเบียดบังผู้ที่กำลังเดือดร้อน โดยนำรถที่จำนำไว้ไปขาย โดยไม่แจ้งให้เจ้าของรถทราบ จนเป็นข่าวให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการ “จำนำ” นั้นอาจต้องรับผิดทั้งเจ้าของรถและผู้รับจำนำ
หากผู้เช่าซื้อนำรถที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไปจำนำหรือขายให้กับบุคคลอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อ จะมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 “ ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ”
สำหรับผู้ที่รับซื้อรถที่ติดไฟแนนซ์ ผู้ที่ประกอบธุรกิจรับซื้อขายรถยนต์ตามเต็นท์หรือตามอินเทอร์เน็ต
มีความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357“ ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มา โดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ”
ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไร หรือได้กระทำต่อทรัพย์ อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 200,000 บาท ตามมาตรา 357 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ข้อมูลจาก : ประมวลกฎหมายอาญา 335 (10)
มาตรา 352 มาตรา 357