ตัวอย่างเหตุแห่งการอ้างว่าสัญญากู้ปลอม
เหตุแห่งการปฏิเสธว่าสัญญากู้ปลอมนั้น จะถือว่ามีเหตุผลชัดแจ้งตามหลักเรื่องคำให้การหรือไม่อันจะมีผลทำให้นำสืบได้หรือไม่คงจะต้องศึกษาจากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้
ก.ปลอมเพราะเหตุผู้ให้กู้กรอกจำนวนเงินในช่องที่ว่างไว้ไม่ตรงกับความเป็นจริง
ฎีกาที่ 2692/2522
จำเลยกู้เงินไป 8,000 บาท โจทก์ให้จำเลยลงชื่อในช่องผู้กู้ โดยไม่ได้กรอกข้อความอื่นในสัญญากู้ต่อมาโจทก์จึงกรอกข้อความในสัญญากู้และเขียนจำนวนเงินที่กู้เป็น 80,000 บาท แล้วฟ้องเรียกเงินจากโจทก์ด้วยสัญญากู้ดังกล่าว จึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่อาจแสดงสิทธิจากเอกสารปลอมได้ ถือได้ว่าการกู้เงินระหว่างโจทก์จำเลย ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653
ฎีกาที่ 1532/2526
จำเลยกู้เงินโจทก์ 30,000 บาท โจทก์ให้จำเลยลงชื่อในช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน โดยไม่ได้กรอกข้อความเมื่อข้อความและจำนวนเงิน 40,000 บาท ที่กรอกในหนังสือสัญญากู้ถูกเขียนขึ้นภายหลัง ไม่ตรงต่อความเป็นจริง และโดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม ย่อมเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่อาจแสวงหาสิทธิจากเอกสารปลอมได้ ถือได้ว่าการกู้เงินระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653
ฎีกาที่ 4693/2528
จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 12,960 บาท ได้เขียนสัญญากู้เงิน โดยยังไม่ได้เขียนจำนวนเงินที่กู้ให้โจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์ได้เขียนจำนวนเงินกู้ 15,000 บาท ลงในสัญญากู้โดยจำเลยไม่ได้ยินยอม ดังนี้การที่โจทก์เขียนข้อความในสัญญากู้ว่าได้มีการกู้เงินจำนวนเงินถึง 15,000 บาท เกินกว่าจำนวนหนี้ที่เป็นจริง โดยจำเลยมิได้รู้เห็นและยินยอม ด้วยสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอมใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ แม้ขณะโจทก์เขียนจำนวน 15,000 บาท ในสัญญากู้จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 12,960 บาท ศาลก็จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวโดยอาศัยสัญญาคู่นั้นไม่ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1313/2515)
ตามข้อเท็จจริงทั้ง 3 ฎีกานี้ เป็นเรื่องสัญญากู้ปลอมเพราะเหตุมีการกรอกจำนวนเงินที่กู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ผลของการวินิจฉัยจากเอกสารปลอมไปในรูปที่ว่าสัญญากู้นั้นปลอมเสียหมดทั้งฉบับ โจทก์ไม่อาจอ้างอิงแสวงสิทธิจากเอกสารปลอมได้ ใช้สัญญากู้ดังกล่าวเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้แต่กรณีจะเป็นเช่นนั้นได้ จะต้องเป็นการกรอกจำนวนเงินลงในช่องว่างที่เว้นไว้ กล่าวคือสัญญากู้ไม่มีการระบุจำนวนเงินไว้ มีการมากรอกขึ้นภายหลัง โดยไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ถ้ากรณีเป็นเรื่องกรอกจำนวนเงินลงไว้ถูกต้องในตอนแรกแล้วมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปในภายหลัง ผลทางกฎหมายจะออกไปในอีกทางหนึ่งดังจะได้ศึกษาต่อไป
มีปัญหาน่าคิดต่อไปอีกว่า เมื่อกรณีตกลงกู้เงินกันจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้ลงจำนวนเงินไว้ต่อมาผู้ให้กู้กรอบจำนวนเงินลงไปไม่ตรงกับที่ตกลงคู่กัน ผู้กู้ก็รับแล้วว่ากู้จริงเท่าใด จึงน่าจะบังคับกันตามจำนวนที่กู้จริงผู้เขียนก็มีความเห็นว่าเมื่อฟังว่าสัญญากู้ปลอมทั้งฉบับแล้วไม่อาจอ้างอิงแสวงหาสิทธิจากสัญญากู้อีกต่อไปการกู้รายนี้จึงไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องบังคับคดีเมื่อไม่ผ่านขั้นการเสนอคดีโดยมีหลักฐานการกู้เป็นเป็นหนังสือแล้วจะก้าวล่วงไปพิจารณาถึงขั้นว่ามีการรับกันแล้วคงไม่ได้
ฎีกาที่ 3063/2531
จำเลยทั้งสองยืมเงินโจทก์เป็นจำนวนเงิน 18,000 บาท โดยโจทก์ให้จำเลยทั้งสองลงนามในช่องผู้กู้ก่อนต่อมาก่อนฟ้องคดีโจทก์ให้สามีโจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้ว่าจำเลยทั้งสองยืมเงินโจทก์เป็นเงิน 46,000 บาท ซึ่งผิดจากข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับ เท่ากับโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ.มาตรา 653 แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ทั้งจำเลยที่ 2 รับว่ากู้เงินโจทก์จำนวน 18,000 บาท ก็ตาม โจทก์หาอาจฟ้องร้องบังคับคดีตามเอกสารปลอมดังกล่าวได้ไม่
สอบถามกฎหมายกับผู้เชี่ยวชาญคดีเงินกู้ สอบถามคดีเงินกู้เพิ่มเติม ติดต่อ 091-047-3382 (ทนายสุริยา สนธิวงศ์)