“ตั้งเรื่องฟ้องได้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง”
ก่อนการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลในคดีแพ่ง ทนายความควรตระเตรียมรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน รอบคอบ ให้มากที่สุด ดังนี้
– ต้องตรวจสอบ สถานะของคู่ความ (ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย)
กรณีบุคคลธรรมดา ต้องตรวจสอบว่ามีความสามารถในการใช้สิทธิทางศาลหรือไม่ กล่าวคือ ต้องมีสภาพบุคคล และมีรายละเอียดทางประวัติ เช่น ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ สัญชาติ ครอบครัว อาชีพ ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ และ เป็นผู้เยาว์ เป็นคนไร้ความสามารถ หรือ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือไม่ ฯลฯ กรณีนิติบุคคล ก็ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม ในเรื่องหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลจากนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เพื่อดูอำนาจของกรรมการ หรือ ผู้จัดการ ว่ามีอำนาจจัดการแทนบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น หรือไม่ เพราะจะมีผลเกี่ยวโยงไปถึงเรื่อง อำนาจฟ้อง และ เขตอำนาจศาล
– ตรวจสอบข้อเท็จจริง ในคดี โดยสอบจาก โจทก์(ลูกความ) และ พยานบุคคล พยานเอกสาร ที่โจทก์ อ้างถึง พิจารณาเรื่องราว ต่าง ๆ
ที่ทำให้เกิดการโต้แย้งสิทธิ์ และ โจทก์ มีความเดือดร้อนอย่างไร มีความเสียหายประการใดบ้าง
– ตรวจสอบว่า มีประเด็นข้อพิพาทกี่ประเด็น และ ประเด็นต่างๆ เหล่านั้น มีหลักกฎหมาย เรื่องใดสนับสนุน และ สามรถนำมา
ปรับใช้กับ ข้อเท็จจริง ในคดีได้
– ตรวจสอบเรื่อง เขตอำนาจศาล ว่าคำฟ้องนั้นๆ ควรยื่นฟ้องต่อศาลใด เช่น ยื่นฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา , ยื่นฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิด
แต่ถ้าเป็นคำฟ้องที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือ สิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ก็ให้ยื่นฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้น ตั้งอยู่
– ตรวจสอบ หลักกฎหมาย ว่า โจทก์ต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนฟ้องหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
ให้ครบถ้วนเสียก่อน โจทก์ จึงจะมาฟ้องคดีได้ เช่น การฟ้องบังคับจำนอง มีกฎหมายกำหนดว่า ผู้รับจำนอง ต้องมีจดหมายบอกกล่าว
ไปยังลูกหนี้ ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ถ้าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวนั้น ผู้รับจำนอง จึงจะมาฟ้องคดีได้
– ตรวจสอบ อายุความ ในเรื่องที่จะฟ้องให้ชัดเจน เช่น การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ฐานละเมิด นั้นมีอายุความ 1 ปี
นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ
ก็สามารถใช้อายุความโดยทั่วไปได้ คือ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้
– การคำนวณ ทุนทรัพย์ การดำเนินคดีในศาลนั้น ฝ่ายโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องคดี คดีที่มีทุนทรัพย์สูง
ค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีก็จะสูงตามไปด้วย แต่หากคิดคำนวณ ตั้งทุนทรัพย์ ต่ำๆ เพื่อหวังลดค่าใช้จ่าย ก็อาจมีผลเสีย บางประการ เช่น
หากโจทก์ แพ้คดีในศาลชั้นต้น แล้วทุนทรัพย์ ต่ำเกินไป ก็อาจทำให้โจทก์เสียสิทธิ การขอ อุทธรณ์ ฎีกา ดังนั้น ควรคิดคำนวณทุนทรัพย์ ให้ดีๆ
– การแจ้งความประสงค์ ของโจทก์ว่า จะขอให้ศาลช่วย เรื่องใด อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็น บทสรุป โดยทำเป็น “คำขอท้ายฟ้อง”
(ใช้แบบพิมพ์ของศาล) หากไม่มี คำขอท้ายฟ้อง ศาลก็จะไม่สามารถบังคับตัดสินคดีให้ได้ เพราะมีหลักกฎหมาย ห้ามมิให้ศาล พิพากษาเกินคำขอ
***หากทำได้ครบถ้วนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น การตั้งเรื่องฟ้อง ก็จะหนักแน่น รัดกุม ทำให้มีโอกาสได้รับชัยชนะ สูง***