การต่อสู้และสัญญากู้ปลอมนั้น เป็นผลให้โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่า สัญญากู้ที่นำมาฟ้องนั้นสมบูรณ์ถูกต้อง ไม่ปลอม แล้วจำเลยสืบแก้ ซึ่งสามารถสืบพยานบุคคลได้ ตามข้อยกเว้นในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง แต่อย่างใดก็ตาม การที่จำเลยจะมีสิทธิสืบแก้ได้นั้น จำเลยจะต้องอ้างเหตุแห่งการปลอมนั้นไว้ด้วยว่า ปลอมเพราะเหตุใด ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ฎีกา 2243/2521
โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ จำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอมโดยไม่อ้างเหตุตั้งประเด็นไว้ว่าปลอมอย่างไร ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 จำเลยไม่มีสิทธิสืบพยานบุคคลตามข้อต่อสู้นั้น
กรณีตามฎีกาที่ 2243/2521 นี้ถือว่าจำเลยได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้วว่า สัญญากู้ปลอมเกิดเป็นประเด็นที่พลาด โจทก์มีภาระการพิสูจน์ตามประเด็น แต่จำเลยไม่มีสิทธิสืบแก้เพราะไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ ก็ไม่มีข้ออ้างที่จะนำสืบหรือไม่มีเหตุผลที่อ้างนั่นเอง
ฎีกาที่ 1372/2526
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินไป 28,750 บาท จำเลยให้การว่า กู้ไปเพียง 4,000 บาท โดยโจทก์ให้จำเลยลงชื่อไว้ในแบบพิมพ์สัญญากู้โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ การที่จำเลยนำสืบ ตัวจำเลยและพยานบุคคลอีก 2 คน ว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปเพียง 4,000 บาท โจทก์ได้ให้จำเลยลงชื่อไว้ในแบบพิมพ์สัญญากู้ โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ เป็นการนำสืบให้เห็นว่ามีการกรอกข้อความที่ผิดความจริง ว่าจำเลยกู้เงินไป 28,750 บาท ลงในสัญญากู้ฉบับที่โจทก์นำมาฟ้อง ซึ่งหากฟังได้สัญญากู้ดังกล่าวย่อมเป็นเอกสารปลอม การนำสืบเช่นนี้เป็นการนำสืบหักล้างเอกสาร จำเลยมีสิทธินำไปสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคสอง
สอบถามกฎหมายกับผู้เชี่ยวชาญคดีเงินกู้ สอบถามคดีเงินกู้เพิ่มเติม ติดต่อ 091-047-3382 (ทนายสุริยา สนธิวงศ์)